Got My Cursor @ 123Cursors.com
EKG Amplifier Circuit: การวางตำแหน่งขั้วไฟฟ้า (Lead position)

Friday, September 19, 2008

การวางตำแหน่งขั้วไฟฟ้า (Lead position)

ต่อจากการรู้ทฤษฎีและวิธีการแสดงผล ต่อไปคือการติดตั้งอิเลคโทรด เพื่อดึงเอาคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นๆ ออกมาแสดงผล

Lead หมายถึง การบันทึกความต่างศักย์ไฟฟ้าที่เกิดจากการวางขั้วไฟฟ้า ขั้วบวกและขั้วลบไว้ที่พื้นผิวของร่างกาย

Limb leads หมายถึง การบันทึกความต่างศักย์ไฟฟ้าของการวางขั้วไฟฟ้า ไว้ที่แขนขา แขนซ้าย และขาซ้าย ทำให้เกิดรูปสามเหลี่ยมหนึ่ง เรียกว่า Einthoven’s triangle ซึ่งแต่ละด้านของสามเหลี่ยมประกอบด้วย limb leads (bipolar leads) 3 leads คือ lead I, II, III

บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ได้ในแต่ละ lead นั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการวางและชนิดของขั้วไฟฟ้า ที่นิยมกันมี 12 leads ประกอบด้วย

1.การบันทึกโดยใช้ขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว

บันทึกที่ได้ถือว่าเป็น standard leads ตำแหน่งของการวางขั้วไฟฟ้าอยู่ที่แขนและขาจึงเรียก standard limp leads อาศัยรูปสามเหลี่ยมที่มีหัวใจอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า Einthoven’s triangle ใช้มุมทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมเป็นตำแหน่งวางขั้วไฟฟ้า คือ แขนขวา แขนซ้าย และขาซ้าย ดังแสดงในรูปที่ 2 Einthoven ศึกษาพบว่า ถ้าวัดความต่างศักย์ไฟฟ้าออกมาได้ 2 leads แล้ว จะสามารถหาค่าความต่างศักย์ของ lead ที่ 3 ได้ standard leads ประกอบด้วย

1.1 Lead I ได้จากการวางขั้วลบไว้บนแขนขวาและขั้วบวกไว้บนแขนซ้าย เมื่อเปรียบเทียบทิศทางของการวิ่งของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วขั้วที่อยู่บนแขนขวาจะเป็นลบมากกว่าแขนซ้าย บันทึกที่ได้จึงมีค่าเป็นบวก

1.2 Lead II วางขั้วลบไว้บนแขนขวาและขั้วบวกไว้บนขาซ้าย บันทึกที่ได้เป็นค่าบวกเนื่องจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจวิ่งลงมาทางขาซ้ายมากกว่า

1.3 Lead III วางขั้วลบไว้บนแขนซ้ายและขั้วบวกบนขาซ้าย ในทำนองเดียวกันบันทึกที่ได้เป็นบวกเช่นกัน
ถ้าเอาทิศทางทั้ง 3 leads มาต่อกันก็จะได้รูปสามเหลี่ยมเรียกว่า Einthoven’s triangle แต่ถ้าลากตัดกันที่จุดใดจุดหนึ่ง จุดที่ตัดกันเรียกว่าจุดศูนย์ (zero point) แต่ละ lead จะทำมุมกัน 60 องศาพอดีและถือว่าเป็นระบบอ้างอิง 3 แกน (triaxial reference system)

2. การบันทึกโดยใช้ขั้วไฟฟ้าขั้วเดียว

2.1 Limb leads ของการบันทึกโดยใช้ขั้วไฟฟ้าขั้วเดียว เนื่องจากวางขั้วไฟฟ้าวิธีนี้เกิดความต่างศักย์น้อยมาก จำเป็นต้องมีการขยายบันทึกที่ได้เพื่อให้การวิเคราะห์หัวใจชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเรียกว่า augmented limb leads ซึ่งจะขยายได้ประมาณร้อยละ 50 ใช้อักษรนำหน้าว่า ‘a’ การยันทึกแบบนี้จะเป็นการบันทึกใน frontal plane ประกอบไปด้วย

2.1.1 Lead aVR คือ augmented unipolar right arm lead ได้จากการวางขั้วบวกไว้บนแขนขวา

2.1.2 Lead aVL คือ augmented unipolar left arm lead ได้จากการวางขั้วบวกไว้บนแขนซ้าย

2.1.3 Lead aVF คือ augmented unipolar left leg lead ได้จากการวางขั้วบวกไว้บนขาซ้าย

จะเห็นว่าแกนของ limb leads จากการบันทึกโดยใช้ขั้วไฟฟ้าขั้วเดียวคือเส้นตรงที่ต่อจุดจากแขนขวา แขนซ้าย และขาซ้าย นำทั้ง 3 แกนมาวางตัดกันจะตัดกันที่จุดกึ่งกลางของ Einthoven’s triangle ทุกๆ แกนจะทำมุมกัน 60 องศา ใช้เป็นระบบอ้างอิง 3 แกนเหมือนกัน ถ้าเอาระบบอ้างอิง 3 แกนทั้ง 2 ระบบมารวมกันจะได้ระบอ้างอิง 6 แกน (hexaxial reference system) ซึ่งแต่ละเส้นหรือแต่ละแกนทำมุม 30 องศา โดยถือว่าขั้วบวกของ lead I เป็น 0 องศา ขั้วลบเป็น 180 องศา ขั้วบวกของ lead aVF เป็น +90 องศา ส่วนขั้วลบเป็น +270 องศา หรือ -90 องศา ตามลำดับ

2.2 Chest leads เป็นการบันทึก horizontal plane ใช้อักษร ‘V’ แทนมาจากคำว่าเวคเตอร์ (vector) ตำแหน่งของการวาง lead อยู่บริเวณหน้าอกตรงกับตำแหน่งหัวใจเรียกว่า precordial area บันทึกที่ได้เป็นการวัดความต่างศักย์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวงจรศักย์ไฟฟ้าหัวใจในขณะนั้น การวางขั้วไฟฟ้า โดยการเสนอแนะจาก American Heart Association มีดังนี้

2.2.1 Lead V1 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่ช่องซี่โครงที่ 4 ด้านขวาของกระดูกอก

2.2.2 Lead V2 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่ช่องซี่โครงที่ 4 ด้านซ้ายของกระดูกอก

2.2.3 Lead V3 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่แนวกึ่งกลางระหว่างตำแหน่งของ V2 กับ V4 ด้านขวาของกระดูกอก

2.2.4 Lead V4 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่ช่องซี่โครงที่ 5 แนวกึ่งกลางกระดูกไหปลาร้าซ้าย

2.2.5 Lead V5 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่ช่องซี่โครงที่ 5 ตามแนวด้านหน้าของรักแร้ (left anterior axillary line)

2.2.6 Lead V6 ได้จากการวางขั้วไฟฟ้าไว้ที่ช่องซี่โครงที่ 5 ตามแนวตรงกลางของรักแร้ (mild axillary line)

รูปประกอบจะนำมาเพิ่มเติมให้ในภายหลังครับ เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในตอนนี้ก็ขอให้ศึกษาเป็นแนวทางคร่าวๆไว้ก่อน

No comments: